ผมขอนำความหมาย ที่เรียบเรียงโดย คุณชัชวนันท์ สันธิเดช แปะไว้บนเพจของผมครับ

ที่มา : Club VI

“”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

VI คืออะไร

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

VI (วีไอ) ย่อมาจาก “Value Investment” หรือ “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” นักลงทุนที่ใช้แนวทางนี้ เรียกขานกันว่า “Value Investor” หรือ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ใช้ตัวย่อว่า “VI” เช่นกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึง VI เราอาจหมายถึงประเภทของ “แนวทางการลงทุน” หรือประเภทของ “นักลงทุน” ก็ได้

VI แตกต่างจากการลงทุนทั่วๆ ไปอย่างไร

VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” หรือ “มูลค่า” ของกิจการเป็นหลัก ซึ่งจะทราบได้จากการศึกษาให้เข้าใจถึง “ตัวธุรกิจ” ของบริษัทที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้น

เช่น หากเราสนใจซื้อหุ้นบริษัท A ก็ต้องพิจารณาว่าบริษัท A ทำธุรกิจอะไร ธุรกิจของบริษัท A มีศักยภาพในการเติบโตขนาดไหน บริษัท A ทำกำไรได้ปีละเท่าไร มีเงินสดและหนี้สินมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารของบริษัทเป็นอย่างไร ฯลฯ ก่อนจะประเมิน “มูลค่าที่แท้จริง” ออกมา

นี่คือการพิจารณา “คุณค่า” หรือ “มูลค่า” ของธุรกิจ แทนที่จะดูแค่ “ราคาหุ้น” เหมือนนักลงทุนระยะสั้นทั่วๆ ไป

คุณซื้อ “หุ้น” จริงหรือ

การจะเข้าซื้อหุ้นโดยใช้แนวทาง VI จึงต้องมองให้ออกว่าเรากำลังซื้อ “บริษัท” ไม่ได้ซื้อแค่ “หุ้น” หากคิดได้อย่างนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับทัศนคติให้เป็นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ สักตัวอย่างหนึ่ง สมมุติมีเพื่อนของคุณมาเสนอขายกิจการร้านอาหารที่เขาทำอยู่ให้กับคุณด้วยเงิน 1 ล้านบาท คุณคงไม่ซื้อมันเพียงเพราะคิดว่าในวันรุ่งขึ้นคุณจะขายมันได้ในราคา 1.2 ล้านบาท ใช่ไหมครับ?

ก่อนตัดสินใจซื้อกิจการ คุณย่อมต้องเข้าไปดูที่ร้านว่ามีลูกค้ามากน้อยขนาดไหน ต้องขอเพื่อนดูบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน เพื่อจะได้ทราบว่าหากลงทุนไปแล้วจะได้รายได้เดือนละเท่าไร จะมีรายจ่ายเดือนละเท่าไร เหลือเป็นกำไรเดือนละเท่าไร และจะใช้เวลานานเท่าไรจึงจะ “คุ้มทุน” หรือได้เงิน 1 ล้านบาทคืน

และแน่นอน หากคุณไม่ไว้ใจเพื่อนคนนี้ หรือเกรงว่าเขาจะหลอกลวงคุณ คุณย่อมไม่ยอมควักเงิน 1 ล้านบาทเพื่อซื้อร้านของเขาแน่ๆ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็เช่นเดียวกับการเข้าไปซื้อกิจการร้านอาหารของเพื่อน คือคุณต้องพิจารณาบริษัทที่คุณกำลังจะเข้าไปซื้อหุ้นให้ถ้วนถี่และรอบคอบ โดยคิดเสมอว่าหากเราซื้อมัน มันจะกลายเป็นกิจการของเรา (ซึ่งตามทฤษฏีแล้วมันก็คือกิจการของคุณจริงๆ แม้คุณจะมีหุ้นอยู่ไม่มากก็ตาม) หากบริษัทได้กำไร ก็คือกำไรของเรา หากบริษัทขาดทุน เราก็ขาดทุนด้วย

วิธีวิเคราะห์ธุรกิจแบบ VI

การจะทราบถึงคุณภาพของธุรกิจนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น การอ่านรายงานประจำปีของบริษัท การวิเคราะห์งบการเงิน รวมทั้งวิธีง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านบัญชี อาทิ ลองซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาใช้ หรือลองเข้าไปสำรวจกิจการด้วยตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น คุณสนใจจะซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านขายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หนึ่ง คุณก็ควรลองเข้าไปเดินดูในร้านนั้นๆ เพื่อจะได้เห็นว่ามีลูกค้ามากน้อยขนาดไหน พนักงานให้บริการดีหรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หากคุณเดินเข้าไปในร้านแล้วเจอกับบริการแย่ๆ คุณอาจเลิกล้มความคิดที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเลยก็ได้

นอกจากนี้ คุณอาจรวมกลุ่มกับนักลงทุนคนอื่นๆ เพื่อทำเรื่องขอเข้าพบผู้บริหารของบริษัทเพื่อพูดคุยและสอบถามถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ของเขาก็ได้ บางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มักมีโครงการ Company Visit พานักลงทุนเข้าไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัท นี่ก็เป็นโอกาสงามที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ควรพลาด

เลือกของ “ถูก” และ “ดี”

หลักดั้งเดิมของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คิดค้นขึ้นโดย ”เบนจามิน เกรแฮม” คือต้องซื้อหุ้น ณ ราคาที่ “ต่ำ” กว่า “มูลค่าแท้จริง” ของกิจการ

เช่น หากเราประเมินแล้ว หุ้นของบริษัท B มีมูลค่าอยู่ที่หุ้นละ 10 บาท แต่ราคาหุ้นของบริษัท B ในตลาดวันนี้ ซื้อขายกันอยู่ที่หุ้นละ 7 บาท นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าสามารถเข้าซื้อหุ้นของบริษัท B ได้ เพราจะได้หุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าแท้จริง (ที่เราคำนวณเอง) ถึง 3 บาท หรือ 30 % ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในสมัยใหม่ เราต้องเอา “ปัจจัยเชิงคุณภาพของกิจการ” มาพิจารณาด้วย เช่น บริษัทมีแบรนด์ที่เป็นที่นิยมหรือไม่ ทำการตลาดเก่งหรือไม่ ผู้บริหารเก่งหรือไม่ มีพฤติกรรมฉ้อฉลหรือไม่ มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขนาดไหน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ”วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะมากกว่า “งบการเงิน” เสียด้วยซ้ำ โดยมิได้ดูแค่ “ราคาถูก” แต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทจะไม่ต่ำ แต่นักลงทุนมองแล้วว่าบริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก กำไรยังโตต่อไปได้อีกไกล ก็อาจคุ้มค่าหากจะเข้าไปลงทุนในบริษัทนั้น นี่คือส่วนหนึ่งของการลงทุนแบบเน้นการเติบโตในแนวทางของ“ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ซึ่งเป็นหลักที่ทำให้บัฟเฟตต์ร่ำรวยขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าซื้อ “ของดี” ในราคาที่ “แพงเกิน” ผลตอบแทนที่ได้รับก็ย่อมต่ำลง นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่อยากประสบความสำเร็จ จึงต้องหาความสมดุลระหว่าง “ราคาหุ้น” กับ “คุณภาพ” ของกิจการที่เข้าไปซื้อให้ดี จึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้

ต้อง “ถือ” นานขนาดไหน เมื่อไรจึงควร “ขาย”

หลายคนมักสงสัยว่า การเป็น VI นั้น ต้องถือหุ้นนานแค่ไหน คำตอบก็คือ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะไม่ขายหุ้นที่ซื้อไว้ จนกว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป “ในทางลบ”

ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2546 สมชายซื้อหุ้นของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ก.ไก่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศ ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะมีผู้บริโภคติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก และจำนวนผู้อ่านยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

แต่แล้ว ใน  พ.ศ. 2556 สมชายก็พบว่า เทคโนโลยี 4G ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มอ่านข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ก.ไก่ จึงลดลงอย่างน่าใจหาย บรรดาสปอนเซอร์ก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์กันน้อยลง รายได้ของบริษัทจึงลดต่ำลงมาก

เช่นนี้แล้ว ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่สมชายจะขายหุ้นของบริษัท ก.ไก่ ทิ้งเสีย เพราะ “ปัจจัยพื้นฐาน” มีการเปลี่ยนแปลงจากตอนที่ซื้อ กล่าวคือบริษัทสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเหตุการณ์ที่มากระทบกับธุรกิจเพียงชั่วครั้งชั้วคราว ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหรืออนาคตของบริษัท แต่ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำลง เช่นนี้แล้ว นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็ไม่ควรจะขายหุ้นทิ้ง

อาทิ เรามีหุ้นของบริษัท “ห้างสรรพสินค้า C” ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีอนาคตดี มีลูกค้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่แล้วได้เกิดการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของห้าง ส่งผลให้คนไม่กล้ามาซื้อของ ผลประกอบการของห้าง C จึงลดลง 20% เป็นเวลา 1 ไตรมาส ทำให้ราคาหุ้นลดลงด้วย

ทว่าเมื่อวิกฤตการเมืองผ่านพ้นไป ห้าง C ก็กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และเติบโตยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เช่นนี้แล้ว การขายหุ้นของห้าง C ทิ้งเพียงเพราะผลประกอบการที่ลดต่ำลงชั่วคราว กลับกลายเป็นการ “ทิ้งของดี” ไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น การตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทที่เราเป็นเจ้าของอยู่ จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทในระยะยาวหรือเป็นการถาวร หากเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ก็ไม่ควรขายหุ้นทิ้งแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากราคาลดต่ำลงมากๆ กลับจะเป็นโอกาสอันดีที่จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมเสียด้วยซ้ำ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ VI

MYTH#1 : VI คือซื้อหุ้นแล้วรอรับปันผล

คนจำนวนมากมักเข้าใจว่าการลงทุนแบบ VI คือการซื้อหุ้นทิ้งไว้ยาวๆ รอรับ “เงินปันผล” อย่างเดียว ทว่าแท้จริงแล้ว แม้ส่วนแบ่งเงินปันผลจะเป็นสิ่งที่กูรูหลายคน อาทิ เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้ความสำคัญอย่างมาก แต่กูรูจำนวนมากกลับเตือนว่าการรับเงินปันผลไม่ใช่ความสำคัญหลักของ Value Investment

ฟิลลิป ฟิชเชอร์ บอกว่า “อย่าให้ความสำคัญกับเงินปันผลมากไป” ทั้งนี้เพราะการจ่ายปันผลออกมามากๆ อาจทำให้บริษัทเสียโอกาสที่จะเอาเงินสดไปลงทุนต่อและทำให้กิจการเติบโต ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สุดยอดนักลงทุนยุคปัจจุบันที่ยึดเอา ฟิชเชอร์ เป็นแบบอย่าง ก็ไม่นิยมการจ่ายปันผลเช่นกัน เพราะเขาไม่อยากให้ผู้ถือหุ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเขาเอง) “ถูกเก็บภาษีสองต่อ” ต่อแรกคือ บริษัทต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐ ต่อที่สองคือ ผู้ถือหุ้นต้องจ่ายภาษีเงินปันผลซ้ำอีก

ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทไม่ปันส่วนกำไรออกมา เงินของผู้ถือหุ้นจะถูกเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว คือจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล จากนั้น บริษัทก็สามารถเอาเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทบต้นและทวีมูลค่าไปเรื่อยๆ อันจะส่งผลให้ “ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” สูงขึ้น และ “ราคาหุ้น” ก็จะสูงขึ้นในที่สุด ซึ่งก็คือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในระยะยาวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ VI ตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ Club VI แนะนำว่า อาจมองเงินปันผลไว้บ้างก็ได้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ต้องจำไว้ว่าการมีปันผลบ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อย่าให้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้เราไขว้เขวจากแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้

 MYTH#2 :VI คือการซื้อหุ้นบลูชิพ

คนจำนวนมากเข้าใจว่า การลงทุนแบบ VI คือต้องซื้อหุ้นขนาดยักษ์ เช่น หุ้นน้ำมัน หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ หุ้นบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ ฯลฯ แต่ที่จริงแล้ว การลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ การลงทุนโดยเน้นมูลค่าพื้นฐานของกิจการ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบริษัทขนาดยักษ์หรือที่เรียกกันว่า “บลูชิพ” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่นั้นก็มีข้อดี เช่น บริษัทขนาดใหญ่มักตรวจสอบได้ง่ายและมีความโปร่งใสมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก เพราะการบริหารงานของบริษัทขนาดใหญ่มักถูกจับตามองโดยนักลงทุนจำนวนมาก จึงเป็นการยากกว่าที่จะทำอะไรไม่ชอบมาพากล ทว่าการจะลงในบริษัทไหนนั้น ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างประกอบการตัดสินใจ มิใช่เพียงแค่ขนาดของบริษัท

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ VI และตลาดหุ้นไทย

คนจำนวนมากเข้าใจว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในแนวทางของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้น ทำไม่ได้จริงในตลาดหุ้นไทย โดยยกเหตุผลต่างๆ มาอธิบาย

ความเข้าใจเช่นนี้ ปิดโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก โดยคนที่เชื่อเช่นนี้มักมีเหตุผลต่างๆ กันไป ทว่า Club VI ขอแย้งความเชื่อดังกล่าว และขอชี้แจงโดยอ้างอิงความเชื่อที่ได้ยินกันบ่อยๆ ดังนี้

 MYTH#1 : ตลาดหุ้นไทยน่ากลัว มีแต่พวกปั่นหุ้น คอยหลอกนักลงทุนตัวเล็กๆ???

แม้ตลาดหุ้นไทยจะมีบริษัทจดทะเบียนฯ ส่วนหนึ่งที่ไม่โปร่งใส แต่ก็ยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับว่าบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล บางบริษัทมีชื่อเสียงในระดับเอเชียหรือแม้แต่ระดับโลก

ก็เหมือนกับทุกๆ สังคม ที่คนอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะเลือกลงทุนในบริษัทประเภทไหน และด้วยวิธีใด หากเล่นหุ้นแบบ “นักเก็งกำไร” ย่อมมีโอกาสขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหุ้นไทยหรือตลาดไหนในโลกก็ตาม

แต่สำหรับ VI พันธุ์แท้ เราคือกลุ่มของนักลงทุนคุณภาพที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่มั่นคง

ที่จริงแล้ว หากยึดแนวทาง VI อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะสูญเสียเงินทั้งหมดนั้นมีน้อยมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

Club VI จึงขอชี้ชัดว่า “อันตราย” ของตลาดหุ้นนั้น เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจของตัวนักลงทุนเองเป็นสำคัญ โดยหากมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง ไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นที่เขาขุดบ่อล่อไว้ ตลาดหุ้นก็ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด

 MYTH#2 :บริษัทในตลาดหุ้นไทยไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถลงทุนในระยะยาวได้???

ไม่จริง ตลาดหุ้นไทยยังมีบริษัทที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอีกเป็นจำนวนมาก บางบริษัทอยู่ในช่วงเติบโต จึงสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่แน่นอน หากต้องการ “ของดีราคาถูก” ก็ต้องเลือกจังหวะเวลาในการเข้าลงทุนให้เหมาะสม

ที่จริงแล้ว ตลาดหุ้นไทยถือว่ายังมีบริษัทที่หุ้นมีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมี “ผู้เล่น” อยู่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกอีกหลายๆ แห่ง ทำให้โอกาสที่จะพบ “ของดีราคาถูก” มีสูงกว่าตลาดสหรัฐฯ และอีกหลายตลาดทั่วโลก หากมองในแง่นี้ ตลาดหุ้นไทยยิ่งน่าลงทุนกว่าตลาดสหรัฐฯ ณ วันนี้เสียด้วยซ้ำ

 

What is VI โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

Aside

Leave a comment